ค้างคาวแวมไพร์ ไขความลับ

ไขความลับ ค้างคาวแวมไพร์ ทำให้มันมีชีวิตอยู่ได้แม้จะดื่มเลือดตลอดชีวิต

การศึกษาครั้งนี้เป็นการตรวจลำดับสารพันธุกรรมของ ค้างคาวแวมไพร์ (Desmodus rotundus) พร้อมเปรียบเทียบกับพันธุกรรมของค้างคาวชนิดอื่น ๆ อีก 25 สายพันธุ์

ผลปรากฏว่า ในพันธุกรรมของค้างคาวแวมไพร์มีความแตกต่างของยีนอยู่ 13 ชุด โดยยีนบางชุดขาดหายไปในขณะที่บางชุดมีการกลายพันธุ์จนโครงสร้างแตกต่างไปจากค้างคาวชนิดอื่น

แม้ยีนในสารพันธุกรรมเป็นกุญแจสำคัญ ในการสร้างโปรตีนที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิต แต่ก็อาจก่อให้เกิดข้อจำกัดในการรงชีวิตด้วยเช่นกัน ซึ่งในกรณีของค้างคาวแวมไพร์ยีนที่หายหรือกลายพันธุ์ไปทั้ง 13 ชุด อาจเป็นคำตอบที่ว่าเหตุใดพวกมันจึงมีชีวิตอยู่ได้แม้จะดื่มเลือดตลอดชีวิต

นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาหน้าที่ของยีนบางชุดเพิ่มเติม พบว่ามียีนที่หายไป 2 ชุด เกี่ยวข้องกับการสร้างอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ใช้ควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย หากปราศจากฮอร์โมนนี้จะทำให้น้ำตาลคงอยู่ในเลือดได้นานและมีปริมาณสูงขึ้น (ในคนคือโรคเบาหวานนั่นเอง)

พ้องกับที่ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ เคยตรวจพบว่าร่างกายของค้างคาวแวมไพร์มีอินซูลินหลั่งออกมาน้อยเมื่อเทียบกับค้างคาวชนิดอื่น ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นที่ว่าเลือดที่พวกมันดื่มจะมีสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาลต่ำ การมีอินซูลินต่ำจะช่วยให้ร่างกายนำน้ำตาลไปใช้อย่างช้า ๆ และเพียงพอต่อการดำรงชีวิต

นอกจากนี้ในค้างคาวแวมไพร์ยังขาดยีน REP15 ยีนที่ควบคุมการดูดซึมสารอาหารในทางเดินอาหารของค้างคาว เมื่อปราศจากยีนนี้จะส่งผลให้ธาตุเหล็กถูกดูดกลืนและนำไปกำจัดออกจากร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่าการที่ค้างคาวแวมไพร์ดื่มเลือดเป็นอาหารเพียงอย่างเดียวจะได้รับธาตุเหล็กจากเลือดในปริมาณที่เยอะมาก ดังนั้น เมื่อขาดยีนนี้ร่างกายของค้างคาวแวมไพร์จะสามารถขับเหล็กส่วนเกินออกได้ดีกว่าด้วยนั่นเอง

.

ที่มา    :      news.trueid.net/detail/YXzGGme0Mkzd

By admin