นักวิทย์ เผย แร่ธาตุในพื้นผิว ดวงจันทร์ กักเก็บออกซิเจนไว้มหาศาล
ดร. จอห์น แกรนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปฐพีศาสตร์ (Soil science) จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นครอสส์ของออสเตรเลีย ได้เผยถึงความคืบหน้าในการค้นหาแหล่งออกซิเจนจากพื้นผิวของ ดวงจันทร์ ว่า แร่ธาตุต่าง ๆ ในพื้นผิวดวงจันทร์ซึ่งประกอบด้วยก้อนหินและผงฝุ่นละเอียดที่เรียกว่า Regolith นั้น กักเก็บออกซิเจนเอาไว้ในปริมาณมหาศาล เพียงพอที่จะนำมาสกัดให้อยู่ในรูปของก๊าซ เพื่อให้ประชากรโลกทั้งหมดราว 8 พันล้านคนใช้หายใจและดำรงชีวิตในอาณานิคมต่างดาวได้ยาวนานถึงหนึ่งแสนปี
ดร. แกรนท์อธิบายถึงเรื่องดังกล่าวในบทความของเขาที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ The Conversation ว่าการที่ดวงจันทร์มีบรรยากาศห่อหุ้มเบาบาง ทั้งประกอบไปด้วยก๊าซไฮโดรเจน นีออน และอาร์กอน ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถใช้หายใจได้เป็นส่วนใหญ่ ทำให้เป็นอุปสรรคใหญ่หลวงต่อการตั้งฐานที่มั่นหรืออาณานิคมนอกโลกเพื่อการอยู่อาศัยในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ พบว่าพื้นผิวชั้นบนหรือ Regolith ของดวงจันทร์ อุดมไปด้วยแร่ธาตุที่มีออกซิเจนเป็นองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นซิลิกา อะลูมิเนียม เหล็ก หรือแมกนีเซียมออกไซด์ โดยคาดว่ามีออกซิเจนปะปนอยู่ในแร่ธาตุเหล่านี้มากถึง 45% ของทั้งหมด
หากเราสามารถสกัดเอาออกซิเจนจากพื้นผิวดวงจันทร์มาใช้ในรูปของก๊าซได้ นักวิทยาศาสตร์ประมาณการว่า Regolith 1 ลูกบาศก์เมตรจะมีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ปะปนอยู่ราว 1.4 ตัน ในจำนวนนั้นยังรวมถึงออกซิเจน 630 กิโลกรัมด้วย ซึ่งออกซิเจนในปริมาณนี้เพียงพอให้มนุษย์หนึ่งคนใช้หายใจและมีชีวิตอยู่รอดได้นานกว่า 2 ปี หากยึดหลักการคำนวณว่าคนหนึ่งคนต้องการออกซิเจน 800 กรัม ในแต่ละวัน
ถ้าพื้นผิวชั้น Regolith ของดวงจันทร์มีความหนาโดยเฉลี่ยราว 10 เมตร และเราสามารถสกัดเอาออกซิเจนในนั้นทั้งหมดมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นเท่ากับว่าเราจะได้ทรัพยากรสำคัญที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของคนทั้งโลก ตลอดช่วงเวลายาวนานถึงหนึ่งแสนปี เลยทีเดียว
.
ที่มา : news.trueid.net/detail/g0YEEYopbok0