นักวิทย์ ชี้ มนุษย์อาจทำลายมหาสมุทร จนสูญเสีย “กฎกำลัง” ตาม ธรรมชาติ
ล่าสุดผลวิจัยของทีม นักนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances พบว่า กิจกรรมของมนุษย์ในรอบเกือบสองศตวรรษที่ผ่านมา ได้ทำให้แบบแผนตาม ธรรมชาติ ที่ขนาดร่างกายของสัตว์น้ำแต่ละชนิดจะมีความสัมพันธ์เป็นสัดส่วนที่แน่นอนต่อจำนวนประชากรของมัน บิดเบี้ยวเปลี่ยนแปลงไปจากภาวะสมดุลตามกฎกำลัง (power law) ที่เคยเป็นมาโดยตลอดก่อนยุคอุตสาหกรรม
กฎกำลังนั้นแสดงความสัมพันธ์เชิงฟังก์ชันระหว่างตัวเลข 2 จำนวน โดยความเปลี่ยนแปลงในจำนวนหนึ่ง จะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเป็นสัดส่วนตามการยกกำลังในอีกจำนวนหนึ่งด้วย
กฎกำลังที่เป็นแบบแผนในธรรมชาติของสัตว์ทะเลนั้นเรียกว่า “การจัดเรียงลำดับของเชลดอน” (Sheldon’s spectrum) โดยกฎนี้ชี้ว่าขนาดตัวหรือมวลกาย (body mass) ของสัตว์ทะเลชนิดหนึ่ง จะสัมพันธ์เป็นสัดส่วนยกกำลังกับจำนวนประชากรของพวกมัน
สัตว์เล็กที่มีมวลกายน้อยเช่นแพลงก์ตอนจะมีประชากรจำนวนมหาศาล ในขณะที่สัตว์ขนาดใหญ่อย่างวาฬจะมีจำนวนน้อยนิด แต่โดยเฉลี่ยแล้ว ภาวะสมดุลนี้จะทำให้มวลรวมของสัตว์ทะเลในแต่ละอันดับขนาด (order of magnitude) มีอยู่เท่ากัน หากคิดคำนวณจากมหาสมุทรทั้งหมดของโลก
ตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา กิจกรรมของมนุษย์เช่นการทำอุตสาหกรรมประมงอย่างหนัก ได้ทำให้ชีวมวล (biomass) หรือมวลจากร่างกายของปลาและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล ลดลงไปจากที่ควรจะเป็นตามกฎกำลังถึง 60% โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มสัตว์ทะเลที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับต้น ซึ่งมีมวลกายคิดเป็น 1 ใน 3 ของสัตว์ทะเลทั้งหมด
มนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงระเบียบแบบแผนในธรรมชาติและการไหลเวียนของพลังงานในระบบนิเวศ เพราะการเข้ามาเล่นบทผู้ล่าสูงสุดในห่วงโซ่อาหารของมหาสมุทรเสียเอง อย่างไรก็ตาม เราหวังว่าการค้นพบนี้จะนำไปสู่การประเมินและคำนวณตัวเลขเป้าหมาย ซึ่งจะตัดลดการทำประมงเกินพิกัดได้อย่างจริงจัง
.
ที่มา : bbc.com/thai/international-59264618