นักวิจัยไทย ทดสอบยาต้านความชราจาก “มณีแดง” ได้สำเร็จ
ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้า ทีมวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เปิดเผยความสำเร็จในการต่อยอดยาต้านความชรา จากโมเลกุล “มณีแดง”
โดย “มณีแดง” คือยีนชนิดหนึ่งของมนุษย์ที่มีหน้าที่ทำให้ “ดีเอ็นเอ” แข็งแรง เนื่องจากความชราเกิดจากดีเอ็นเอถูกทำลาย และโมเลกุลมณีแดงมีความสามารถปกป้องดีเอ็นเอไม่ให้ถูกทำลาย
ผู้วิจัยจึงตั้งชื่อภาษาอังกฤษตามหน้าที่ของมันว่า “REjuvenating DNA by GEnomic stability Molecules” หรือ เรียกชื่อย่อว่า RED-GEMs (เรดเจม) มีความหมายว่า “มณีแดง”
คณะผู้วิจัยได้ค้นพบรอยแยกของดีเอ็นเอ ซึ่งลักษณะของดีเอ็นเอจะเป็นสายโพลิเมอร์ 2 เส้นจับกันเป็นเกลียวคู่ เวลาทำงานดีเอ็นเอเกลียวคู่นี้ จะต้องแยกออกจากกัน ทำให้เกิดแรงบิดและถูกทำลายได้ง่าย
การที่ดีเอ็นเอ ถูกทำลายจากแรงบิดนี้ เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เซลล์แก่ลง รอยแยกของดีเอ็นเอที่ค้นพบใหม่นี้จะช่วยลดแรงบิดลง และปกป้องไม่ให้ดีเอ็นเอถูกทำลายคล้ายกับรอยแยกรางรถไฟ ที่ช่วยปกป้องไม่ให้รางรถไฟผิดรูปจากความร้อน โดยในเซลล์ที่ชราจะมีรอยแยกของดีเอ็นเอน้อยกว่าเซลล์หนุ่มสาว ดังนั้นดีเอ็นเอของคนแก่ถึงถูกทำลายมากกว่า
.
.
ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้ทดสอบฉีดมณีแดงเข้าที่ช่องท้องหนูทดลองที่ชราแล้ว พบว่า มณีแดงสามารถสร้างข้อต่อดีเอ็นเอได้ สามารถย้อนวัยหนูที่มีเซล์ชราให้กลับมามีรูปร่างและการทำงานเหมือนเซลล์ปกติ เหมือนหนูหนุ่มสาว หนูชรามีความจำดีขึ้นและคล่องแคล่วว่องไวขึ้น
นอกจากนี้ ยังพบว่าแผลไฟไหม้ในหนูทดลองที่ชราหายเร็วขึ้นด้วย โดยผู้วิจัยได้ตรวจวัดจำนวนเซลล์ชรา, การทำหน้าที่ของตับ, ความทรงจำ, พังผืดของตับ, และโปรตีนอื่น ๆในตับ และในสมอง พบว่าทุกค่าที่หนูชราที่ได้รับ “มณีแดง” มีสภาพร่างกายย้อนเวลากลับเป็นเหมือนวัยหนุ่มสาว
แสดงศักยภาพของมณีแดงในการประยุกต์ใช้รักษาโรคที่เกิดจากการสะสมสิ่งผิดปกติต่าง ๆ เช่น อมัลลอยในโรคสมองเสื่อม จากอัลไซเมอร์ หรือ ปอดเป็นพังผืดจากการติดเชื้อโควิด หรือการมีเส้นเลือดแข็งจากการมีไขมันสะสมตามผนังหลอดเลือด เป็นต้น
.
ที่มา : tnnthailand.com/news/social/94145