นักวิทย์ เผย ดาวเคราะห์น้อย พุ่งเฉียดโลกโดยหลุดรอดจากการถูกตรวจพบ
ดาวเคราะห์น้อย ที่เพิ่งค้นพบใหม่ซึ่งมีขนาดประมาณตู้เย็นหรือประมาณ 2 เมตร หลุดรอดจากการตรวจจับของ นักวิทยาศาสตร์ ในสัปดาห์นี้ โดยโคจรเข้ามาภายในระยะ 2,000 ไมล์ (3,218 กิโลเมตร) จากทวีปแอนตาร์กติกา
วัตถุอวกาศดังกล่าวถูกค้นพบครั้งแรกโดย Catalina Sky Survey ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ระบุดาวเคราะห์น้อยที่คุกคามความปลอดภัยของโลก และนับตั้งแต่มันเข้ามาใกล้โลกจากทิศทางของดวงอาทิตย์ มันไม่ได้ถูกพบจนกระทั่ง 4 ชั่วโมงหลังจากเข้าสู่ระยะใกล้ที่สุด
โคจรผ่านแอนตาร์กติกาในเย็นวันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคมตามเวลาแปซิฟิกที่ระดับความสูงประมาณ 1,800 ไมล์ (3,047 กิโลเมตร) ซึ่งสูงกว่าจุดที่สถานีอวกาศนานาชาติโคจรอยู่แต่ใกล้กว่าวงโคจรของดาวเทียมสื่อสารขนาดใหญ่
ดาวเคราะห์น้อยซึ่งมีชื่อว่า 2021 UA1 เป็นดาวเคราะห์น้อยดวงที่ 3 ที่โคจรเข้ามาใกล้โลกที่สุดโดยไม่ได้พุ่งชนเข้ากับโลก แต่การเข้าใกล้ที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกคือเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว คือดาวเคราะห์น้อย 2020 VT4 โคจรที่ระดับความสูงเกือบเท่าสถานีอวกาศนานาชาติ (ประมาณ 250 ไมล์หรือ 400 กิโลเมตรขึ้นไป)
ดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้เรียกว่า Near-Earth object หรือ NEO (วัตถุใกล้โลก) ซึ่งหากวงโคจรของ NEO ทับวงโคจรโลกและวัตถุมีขนาดใหญ่กว่า 140 เมตร จะถือว่าเป็นวัตถุที่อาจเป็นอันตราย (PHO)
ปัจจุบัน มีจำนวนกว่า 26,000 ดวงที่รู้จัก และดาวหางใกล้โลกระยะสั้น (NEC) ที่รู้จักกันมากกว่าร้อยดวง
ซึ่งก่อนหน้านี้ องค์การนาซา ได้คำนวณ พบว่า มีดาวเคราะห์น้อยเบนนู (Bennu) อาจมีโอกาสจะพุ่งชนโลกของเราในวันที่ 24 กันยายน ค.ศ.2182 หรือในอีก 161 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2725)
ดาวเคราะห์น้อยเบนนู ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 500 เมตร และมีมวลน้ำหนักราว 78,000 ล้านกิโลกรัม มีโอกาสจะพุ่งชนกับโลก เนื่องจากในวันดังกล่าว วงโคจรของโลก กับเส้นทางโคจรของดาวเคราะห์น้อยเบนนู เกือบจะอยู่ในตำแหน่งเดียวกันพอดี
ข้อมูลล่าสุดของนาซา ระบุว่า มีโอกาสราว 1 ใน 1,750 ที่ดาวเคราะห์น้อยเบนนูจะพุ่งชนกับโลกของเราในวันดังกล่าว หรือหากเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ ก็จะมีความเป็นไปได้ในการพุ่งชนอยู่ที่ 0.037 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม มีผลงานวิจัยล่าสุดจากห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอว์เรนซ์ ลิเวอร์มอร์ (LLNL) ของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังจะตีพิมพ์ในวารสาร Acta Astronautica ฉบับเดือนพฤศจิกายนนี้ ชี้ว่าเราสามารถใช้การระเบิดดาวเคราะห์น้อยในระยะประชิดเฉียดใกล้โลกเป็น “หนทางสุดท้าย” ในการพิทักษ์มวลมนุษย์และสรรพชีวิตบนโลกให้อยู่รอดปลอดภัยได้ หากดาวเคราะห์น้อยที่เป็นอันตรายนั้นมีขนาดไม่ใหญ่โตมากนัก หลังจากก่อนหน้านี้นาซาได้จำลองเหตุการณ์ แม้แต่ระเบิดนิวเคลียร์ ก็ไม่อาจหยุดดาวเคราะห์น้อยที่จะชนโลก
ทีมวิจัย ได้สร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ ที่สามารถคำนวณหาความเป็นไปได้ในการทำลายดาวเคราะห์น้อยความกว้าง 100 เมตร ซึ่งเท่ากับหินอวกาศที่มีขนาดราว 1 ใน 5 ของดาวเคราะห์น้อยเบนนู (Bennu) ซึ่งมีรายงานว่าจะชนโลก โดยจะใช้วิธียิงอาวุธนิวเคลียร์ที่มีแรงระเบิด 1 เมกะตัน เข้าปะทะดาวเคราะห์น้อยในช่วงเวลาตั้งแต่ 1 สัปดาห์ ไปจนถึง 6 เดือนก่อนมันจะพุ่งเข้าชนโลก
หากดาวเคราะห์น้อยที่เป็นเป้าหมายมีขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อย ก็ยังมีโอกาสที่จะทำลายให้แตกย่อยเป็นเศษหินที่มีน้ำหนักเพียง 1% ของมวลดั้งเดิมได้ หากสามารถยิงอาวุธนิวเคลียร์เข้าเป้า ในช่วง 6 เดือนก่อนการชนปะทะกับโลก
และล่าสุดองค์การนาซาแถลงว่า กำลังเตรียมปล่อยยานอวกาศ 2 ลำในภารกิจ DART เพื่อทดลองชนหักเหทิศทางของวัตถุที่เป็นบริวารดาวเคราะห์น้อยในวันที่ 23 พ.ย.นี้ โดยมีหินอวกาศ “ไดมอร์ฟอส” (Dimorphos) บริวารที่โคจรวนรอบดาวเคราะห์น้อย “ไดดีมอส” (Didymos) เป็นเป้าหมาย ซึ่งทั้งสองต่างก็จัดเป็นวัตถุที่มีวงโคจรเข้าใกล้โลก (Near-Earth Object – NEO) โดยสามารถเข้าประชิดในระยะใกล้กว่า 48 ล้านกิโลเมตรได้
.
ที่มา : www.tnnthailand.com/news/sci/95547