นักวิทย์ เผย ป่าแอมะซอน กำลังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าดูดซับ
วารสารวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Nature) ได้เปิดเผยการศึกษาของ นักวิทยาศาสตร์ จากสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติบราซิล (Brazilian National Institute for Space Research) ซึ่งนำเครื่องบินจำนวน 590 ลำ บินที่ระดับความสูง 4,500 เมตรเหนือ ป่าแอมะซอน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 ถึง 2018 เพื่อวัดความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) พบว่าผืนป่าขนาดยักษ์นี้ กำลังสูญเสียความสามารถในการดูดซับก๊าซเหล่านี้ไป โดยเฉพาะป่าแอมะซอนฝั่งตะวันออก
ป่าแอมะซอนฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการทำลายป่า โดยเฉพาะในพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีกลุ่มประชากรที่รุกล้ำป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำเกษตร และปศุสัตว์ ประกอบกับความชื้นที่ลดลงเนื่องจากไม่มีต้นไม้ช่วยกักเก็บน้ำ ทำให้อัตราการเกิดไฟป่าในฤดูแล้งสูง และรุนแรงมากขึ้น ทำให้พื้นที่ป่าแอมะซอนฝั่งตะวันออกปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศมากกว่าที่ป่าดูดซับได้ถึง 3 เท่า
นี่คือสัญญาณเตือนภัยของโลกจากธรรมชาติ ที่แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมการบริโภคทรัพยากรป่าอย่างไม่รู้จักพอ และการรุกล้ำพื้นที่ป่าเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ได้แซงหน้ากิจกรรมการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไปแล้ว สถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่ป่าแอมะซอนเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับพื้นที่ป่าทั่วโลกอีกด้วย ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องหันกลับมาทบทวนพฤติกรรมของตัวเอง และเริ่มต้นการอนุรักษาพื้นที่ป่าอย่างจริงจัง ก่อนที่สถานการณ์สิ่งแวดล้อมจะถึงจุดวิกฤติร้ายแรงที่ไม่อาจแก้ไขได้อีกต่อไป
.