เครื่องบิน เชื้อเพลิงจากพืช

นักวิจัย ผลิต น้ำมันจากพืช ใช้กับเครื่องบินได้สำเร็จ

รายงานชิ้นใหม่ระบุว่าน้ำมันพืชจากเมล็ดที่ชื่อว่า Brassica carinata หากนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงใน เครื่องบิน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 68 และอาจคุ้มค่ากว่าเชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่ใช้ในปัจจุบัน

“SAF (Sustainable Aviation Fuel, เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน) ที่ใช้เมล็ด carinata สามารถช่วยลดรอยเท้าคาร์บอนของภาคการบินได้” Puneet Dwivedi นักวิทยาศาสตร์ ด้านความยั่งยืนจากมหาวิทยาจอร์เจียกล่าวถึงเชื้อเพลิงนี้

แม้แนวคิดนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากมีความพยายามในการใช้ SAF ตั้งแต่ปี 2012 แต่ไม่สามารถจูงใจผู้บริโภคให้มาใช้งานได้เนื่องจากราคาที่แพงกว่าเชื้อเพลิงจากฟอสซิลมาก ทำให้เกิดความไม่คุ้มค่าอย่างยิ่ง

แต่เมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีนการผลิตก็ก้าวหน้ามากขึ้นจนปัจจุบันมีราคา 0.85 ถึง 1.28 ดอลลาร์สหรัฐต่อลิตร (28.42 บาทถึง 42.80 บาท) ซึ่งใกล้เคียงเชื้อเพลิงทั่วไปที่มีราคาอยู่ที่ 0.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อลิตร (16.72 บาท)

และเมื่อมีการเพิ่มข้อจูงใจจากรัฐบาลสหรัฐฯ เช่นโครงการ Sustainable Aviation Grand Fuel Challange ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งให้เครดิตภาษีต่อบริษัทที่ใช้งานเชื้อเพลิงลดมลพิษ ทำให้ราคาของ SAF จาก carinata ลดไปอยู่ที่ระหว่าง 0.12 ถึง 0.66 ดอลลาร์สหรัฐต่อลิตร (4 บาทถึง 22 บาท)

“ถ้าเราสามารถจัดหาวัตถุดิบและให้สิ่งจูงใจทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมตลอดห่วงโซ่อุปทานนี้ จะทำให้เชื้อเพลิง SAF มีความคุ้มค่ากว่าในท้ายที่สุด” Dwivedi กล่าว

ปัจจุบันกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาได้เริ่มลุงทุนราว 15 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 500 ล้านบาท) เพื่อปลูกพืชชนิดนี้แล้วในทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา โดย Dwivedi กล่าวว่า carinata นี้ไม่แย่งทรัพยากรจากการเพาะปลูกพืชอื่น ๆ เพื่อเป็นอาหาร เนื่องจากมันเติบโตได้ดีในฤดูหนาวซึ่งเป็นนอกฤดูกาลเพาะปลูกอยู่แล้ว

“มันเป็นพืชที่ทรหด มันเติบโตได้ในที่ที่พืชชนิดอื่นไม่เติบโต มันไม่ต้องการน้ำมากนัก และเกษตรกรสามารถเข้าใจมันได้ไม่ยาก” สตีฟ ฟาบิจานสกี้ (Steve Fabijanski) ผู้บริหารบริษัทเชื้อเพลิงชีวภาพ Agrisoma กล่าว

ด้วยความท้าทายในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดนมีความกระตือรือร้นอย่างมากในการเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงที่ยั่งยืนกว่า โดยวางเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการบินลงร้อยละ 20 ภายในปี 2030 และเป้าหมายสูงสุดที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในปี 2050

.

ที่มา   :    National Geographic Thailand

By admin