สัญญาณวิทยุประหลาด

นักดาราศาสตร์ พบ “สัญญาณวิทยุประหลาด” จากใจกลางกาแล็กซี

ข้อมูล จาก เฟชบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โดยดร. กิติยานี อาษานอก นักวิจัยชำนาญการ สดร. และ ดร. มติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการ ดาราศาสตร์ สดร. ได้โพสต์ เรื่อง นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

และทีมวิจัย ค้นพบ สัญญาณวิทยุประหลาด จากวัตถุที่มีชื่อว่า ASKAP J173608.2−321635 ตั้งอยู่ประมาณ 4° จากใจกลางทางช้างเผือก โดยการศึกษาผ่านเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ASKAP VAST (Australian Square Kilometre Array Pathfinder Variables and Slow Transients)

และกล้องโทรทรรศน์วิทยุ MeerKAT ของประเทศแอฟริกาใต้ สัญญาณดังกล่าวไม่สอดคล้องกับวัตถุใดที่เคยค้นพบ และอาจเป็นไปได้ว่ายังไม่เคยมีการค้นพบมาก่อนอีกด้วย

สำหรับชื่อ J173608.2-321635 นั้น เรียกตามตำแหน่งการค้นพบของเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ASKAP VAST ซึ่งตรวจหาไม่พบในช่วงแรก แต่ต่อมาพบว่ามีความเข้มสัญญาณสูงขึ้นแล้วจางหายไป และกลับมามีความเข้มของสัญญาณสูงอีกครั้ง ทีมวิจัยสามารถตรวจจับสัญญาณวิทยุจากแหล่งกำเนิดดังกล่าวได้ทั้งสิ้น 6 ครั้ง

ในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายน ในปี ค.ศ. 2020 นอกจากนี้ ยังได้พยายามติดตามสังเกตการณ์ในช่วงคลื่นอื่นด้วย เช่น ใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์ในช่วงอินฟาเรดที่ตามองเห็น ไปจนถึงรังสีเอกซ์ และใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุ Parkes ประเทศออสเตรเลีย แต่ก็ไม่สามารถตรวจจับสัญญาณได้

ท้ายที่สุดได้ตัดสินใจใช้กล้องโทรทรรศน์ที่ไวต่อการตอบสนองสัญญาณที่ดีกว่า เรียกว่า เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ MeerKAT ในประเทศแอฟริกาใต้ จึงสามารถตรวจจับสัญญาณประหลาดนี้ได้ แต่พบว่ามีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างมาก นั่นคือ สัญญาณหายไปเป็นวัน ทั้งที่เคยตรวจจับได้ว่าปรากฏเป็นเวลายาวนานติดกันหลาย ๆ สัปดาห์จากการใช้กล้อง ASKAP VAST สังเกตการณ์ก่อนหน้านี้

สัญญาณประหลาดนี้ให้ค่าโพลาไรเซชันที่สูงมาก ปกติแล้วคลื่นวิทยุเกิดจากการส่ายของสนามแม่เหล็ก ซึ่งสามารถส่ายในแนวใดก็ได้ แต่คลื่นวิทยุจากวัตถุปริศนานี้เป็นแสงที่มีทิศทางชัดเจนไปในทิศทางเดียว บ่งชี้ว่าวัตถุที่กำเนิด หรือสภาพแวดล้อมรอบวัตถุที่กำเนิดคลื่นนี้อาจจะมีสนามแม่เหล็กที่ทรงพลังเป็นอย่างมาก

อาจจะสอดคล้องกับวัตถุเช่น ดาวนิวตรอนที่มีสนามแม่เหล็กอันทรงพลัง อย่างไรก็ตาม ดาวนิวตรอนประเภทนี้โดยทั่วไปนั้นมักจะมาพร้อมกับการเปล่งแสงในช่วงแกมมาหรือเอกซเรย์ที่สว่าง ซึ่งไม่พบในกรณีนี้

.

ที่มา   :   news.trueid.net/detail/7xAPPMJpRmeV  ,  เฟชบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

By admin