นักวิทย์ เผย ดวงจันทร์ ของดาวเคราะห์อิสระอาจมีสิ่งมีชีวิต
ในดาราจักรของเรามีดาวเคราะห์อยู่มากมาย นอกจากจะมีดาวเคราะห์ที่เป็นบริวารของดวงอาทิตย์ที่รู้จักกันดีแล้ว ยังมีดาวเคราะห์ที่เป็นบริวารของดาวฤกษ์ดวงอื่นที่เรียกว่า ดาวเคราะห์ต่างระบบ และยังมีดาวเคราะห์อีกประเภทหนึ่ง เรียกว่าดาวเคราะห์อิสระ ซึ่งเป็นวัตถุจำพวกดาวเคราะห์ แต่ไม่เป็นบริวารของดาวฤกษ์ดวงใด ลอยล่องไปอย่างอิสระท่ามกลางหมู่ ดาวฤกษ์
ในปัจจุบันจะยังไม่มีการค้นพบดวงจันทร์ของดาวเคราะห์อิสระจริง ๆ แต่จากการทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์แสดงว่า ภายใต้สภาพเฉพาะบางอย่างอาจทำให้ดวงจันทร์เหล่านี้มีบรรยากาศและมีน้ำที่อยู่ในสถานะของเหลวได้ ด้วยพลังงานความร้อนที่ได้จากรังสีคอสมิกและแรงน้ำขึ้นลงจากดาวเคราะห์
แม้ปัจจุบันจะมีการค้นพบดาวเคราะห์อิสระมาแล้วไม่มากนัก และยังไม่มีการค้นพบ ดวงจันทร์ ของดาวเคราะห์อิสระเลย แต่นักดาราศาสตร์ก็ยังเชื่อว่าน่าจะมีอยู่จริงและมีปริมาณไม่น้อยเสียด้วย จากการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่พบว่าในดาราจักรทางช้างเผือกมีดาวเคราะห์อิสระที่มีขนาดระดับดาวพฤหัสบดีอยู่มากพอ ๆ กับจำนวนดาวฤกษ์
นั่นเท่ากับในดาราจักรทางช้างเผือกมีดาวเคราะห์อิสระไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนล้านดวง ประกอบการที่พบว่าดาวเคราะห์ในระบบสุริยะส่วนใหญ่ก็มีดวงจันทร์เป็นบริวาร ก็น่าจะพอประเมินคร่าว ๆ ได้ว่าในดาราจักรทางช้างเผือกมีดวงจันทร์ของดาวเคราะห์อิสระอยู่เป็นจำนวนมากนับแสนล้านดวงเช่นกัน
บนโลก สิ่งมีชีวิตแทบทุกชนิดล้วนแต่พึ่งพาพื้นฐานของการสังเคราะห์ด้วยแสง ซึ่งต้องการแสงและความร้อนจากดวงอาทิตย์ ความร้อนจากดวงอาทิตย์ยังช่วยรักษาอุณหภูมิให้เหมาะสมพอให้น้ำคงสถานะเป็นของเหลวอยู่ได้
ในดินแดนที่อยู่ห่างไกลจากดาวฤกษ์ แม้จะหนาวเย็นจนน้ำต้องแข็งเป็นน้ำแข็ง แต่ก็ยังคงมีสถานที่ที่น้ำยังเป็นของเหลวอยู่ได้ เช่น ดวงจันทร์แกนิมีดและยูโรปา ซึ่งโคจรรอบดาวพฤหัสบดี และดวงจันทร์เอนเซลาดัสที่โคจรรอบดาวเสาร์ ลึกลงไปใต้เปลือกที่เยือกแข็งของดวงจันทร์เหล่านี้คือที่อยู่ของมหาสมุทรบาดาลที่น้ำยังอยู่ในสถานะของเหลวได้ด้วยความร้อนที่เกิดขึ้นจากแรงโน้มถ่วงจากดาวเคราะห์
นักดาราศาสตร์คณะหนึ่งนำโดย ปาตริซิโอ ฆาวิเอร์ อาวีลา จากมหาวิทยาลัยกอนเซปซิออนในชิลี ได้สร้างแบบจำลองขึ้นมาเพื่อหาความน่าจะเป็นที่จะมีดวงจันทร์ของดาวเคราะห์อิสระที่เป็นดาวแก๊สยักษ์ โดยมองหาดวงจันทร์ที่มีมวลประมาณโลกและมีบรรยากาศที่ประกอบด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ราว 90 เปอร์เซ็นต์
ผลปรากฏว่า มีโอกาสอยู่มากพอสมควรที่ดวงจันทร์ของดาวเคราะห์อิสระจะมีน้ำที่อยู่ในสถานะของเหลวบนพื้นผิวและในบรรยากาศ
รังสีคอสมิกคือแรงขับเคลื่อนหลักในการแปลงไฮโดรเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นน้ำ แม้จะสร้างน้ำในมหาสมุทรได้น้อยกว่าบนโลกราว 10,000 เท่า แต่สร้างน้ำในบรรยากาศได้มากกว่าราว 100 เท่า ซึ่งนั่นก็มากพอแล้วที่จะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ได้ แรงน้ำขึ้นลงจากดาวเคราะห์จะคอยสร้างความร้อนให้เพียงพอในการรักษาอุณหภูมิให้น้ำอยู่ในสถานะของเหลว
นอกจากนี้คาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศยังมีส่วนช่วยสร้างภาวะเรือนกระจก ยิ่งเป็นการช่วยรักษาอุณหภูมิให้พอเหมาะอีกด้วย หากวงโคจรของดวงจันทร์เหล่านี้มีความเสถียรภาพพอที่จะรักษาให้ผลจากแรงน้ำขึ้นลงคงที่ เมื่อมีน้ำเกิดขึ้นแล้วก็อาจจะคงสภาพเช่นนั้นได้ตลอดช่วงวิวัฒนาการ
.
ที่มา : thaiastro.nectec.or.th/news/3992